จากใจดีสู่ใจพัง: บทเรียนชีวิตที่ต้องรู้จักสร้างขอบเขตให้ตัวเอง
เคยไหม…ที่การเป็นคนใจดีของเราจะกลายเป็นดาบสองคม? จากคนที่ยิ้มรับทุกคำขอ กลับต้องมานั่งเสียใจเพราะโดนคนอื่นเอาเปรียบ หรือว่าเป็นที่ตัวเราหรือเปล่านะ? ที่เป็นคนให้มากเกินไปจนลืมดูหัวใจตัวเอง นี่คือเรื่องราวของเรา จากคนที่เคยภูมิใจในความใจดี จนวันหนึ่งได้รู้ว่าความใจดีที่ไม่มีขอบเขต กลายเป็นสาเหตุให้ใจตัวเอง “พัง” อย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน
จุดเริ่มต้นของ “ความใจดีเกินไป”
ไม่ว่าใครก็ตาม จะเป็นเพื่อน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว หากมาขอความช่วยเหลือ จะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่เราก็ตอบรับด้วยรอยยิ้มเสมอ แม้ว่าในใจจะเหนื่อยหรือยุ่งแค่ไหน กลับทำให้เราคิดว่าการช่วยเหลือเหล่านั้นคงทำให้เรามีค่าในสายตาของพวกเขา แต่สิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังจากคนเหล่านั้น และการที่เราไม่กล้าแม้แต่จะปฏิเสธ เพราะกลัวพวกเขาจะลำบาก และพวกเขาจะผิดหวัง
เมื่อความใจดีพาเราไปสู่ความเจ็บปวด
เมื่อไม่นานมานี้ มีคนรอบตัวเราขอให้เราช่วยทำอะไรบางอย่างอยู่หลายครั้ง และเราก็ตอบรับช่วยเขาทุกครั้ง แม้ตอนนั้นตัวเราเองจะลำบากอยู่ก็ตาม จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเราช่วยเหลือเขาไม่ไหวแล้ว เพราะมันทำให้ตัวเราเองลำบากไปด้วย เราจึงเลือกปฏิเสธไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือคำพูดที่ทำร้ายจิตใจเราอย่างรุนแรง
คำพูดนั้นทำให้เราหยุดคิดว่า “เราทำอะไรผิด?” ที่ผ่านมาเราเหนื่อยและลำบากแทบตาย แต่สิ่งที่ได้กลับมาเป็นคำวิจารณ์ คำด่าทอ และความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า นั่นเป็นจุดที่เราเริ่มตระหนักว่า ความใจดีมากเกินไปโดยที่ไม่มีขอบเขตของเรา อาจไม่ได้ทำให้คนอื่นเห็นคุณค่าเราเสมอไป
บทเรียนชีวิต: รู้จักตั้งขอบเขตให้ตัวเอง
หลังจากเหตุการณ์นั้น เราเริ่มถามตัวเองว่า..
“อะไรคือสิ่งที่เราควรทำเพื่อคนอื่นกันนะ?” “และอะไรคือสิ่งที่เราควรทำเพื่อรักษาความสุขของตัวเองล่ะ?”
เราเรียนรู้ที่จะตั้งขอบเขตให้ตัวเอง เลือกช่วยในสิ่งที่เราทำได้โดยไม่ลำบากและอยากทำจริงๆ เราเริ่มพูดคำว่า “ไม่” กับเรื่องที่เกินกำลัง และหันมาใส่ใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น
และการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เราพบว่า คนที่รักและเข้าใจเราอย่างแท้จริง จะไม่โกรธหรือมองเราในแง่ลบเพียงเพราะเราปฏิเสธ พวกเขาเคารพการตัดสินใจของเรา และนั่นคือความสัมพันธ์ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้
เทคนิคดูแลใจตัวเองและป้องกันใจพัง
- ตั้งขอบเขตความช่วยเหลือให้ชัดเจน
ก่อนจะตอบรับอะไรใคร ให้ถามตัวเองก่อนว่าเราทำได้และอยากทำมันหรือไม่ ถ้าไม่! อย่าลังเลที่จะปฏิเสธอย่างสุภาพ - ให้ความสำคัญกับความรู้สึกตัวเอง
อย่าลืมว่าความรู้สึกของเรามีค่าเท่ากับคนอื่นเหมือนกัน ฟังเสียงในใจตัวเอง อย่าละเลยความรู้สึกนั้น เราไม่จำเป็นต้องเป็น “ทุกอย่าง” ของทุกคน - หาคนที่พร้อมสนับสนุนเรา
อยู่กับคนที่เคารพขอบเขตและความรู้สึกของเรา เพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่เข้าใจและไม่เอาเปรียบ คือคนที่ช่วยให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง - ฝึกพูดปฏิเสธอย่างสุภาพ
การปฏิเสธไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพียงพูดด้วยความสุภาพ เช่น “ตอนนี้เราคงช่วยไม่ได้ แต่ขอบคุณที่ไว้วางใจนะ” จะช่วยลดความกดดันและยังรักษาความสัมพันธ์ได้ - ให้เวลาตัวเองพักใจ
หากกำลังรู้สึกหนักใจ ลองหากิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข หรือเขียนไดอารี่ เป็นวิธีที่ช่วยระบายความเครียดได้ดี เพราะความใจดีควรเริ่มจากการดูแลตัวเองให้มีพลัง ก่อนจะเผื่อแผ่พลังนั้นให้คนอื่น
สรุป: ใจดีได้ แต่ต้องไม่ลืมดูแลหัวใจตัวเอง
การเป็นคนใจดีไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความใจดีที่ไม่มีขอบเขต อาจกลายเป็นบ่วงที่รั้งเราให้เจ็บปวด การตั้งขอบเขตให้ตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ไม่ได้หมายความว่าเราต้องผลักคนอื่นออกไป แต่คือการเรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง และปกป้องหัวใจเราให้ยังคงแข็งแรงพอที่จะมอบความใจดีให้กับคนที่คู่ควร
ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกคนอื่นเอาเปรียบ หรือรู้สึกเหนื่อยล้าจากการตอบตกลงกับทุกสิ่งในชีวิต จำไว้นะคะว่า “การปฏิเสธบ้าง ไม่ได้แปลว่าเราใจร้าย แต่แปลว่าเราเคารพตัวเอง” และการเคารพตัวเอง คือก้าวแรกของการรักตัวเองอย่างแท้จริง